ความสูงของฝ้าเพดานมีความสำคัญต่อตัวบ้านไม่ต่างอะไรจากชนิดของฝ้าเพดานที่นำมาติด เพราะความสูงของฝ้าเพดานส่งผลโดยตรงต่อจิตใจและความรู้สึกของคนที่อยู่ในบ้าน แคบเกินก็มีผล สูงเกินก็มีผลเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีการเลือกความสูงของฝ้าเพดานก็ยังคงขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนบุคคลของผู้ที่ออกแบบและผู้ที่เป็นเจ้าของ แต่ในทางกฎหมายก็มีการกำหนดขั้นสูงของฝ้าเพดานเอาไว้คร่าวๆ แล้ว ซึ่งความสูงมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับห้องแบบทั่วไปอยู่ที่ 2.4 เมตร
ซึ่งตัวเลข 2.4 เมตร นี้ มีเหตุผลมาจากความสูงของประตูจะ ที่จะอยู่ที่ประมาณ 2 เมตรเศษๆ จากนั้นก็เว้นช่องว่างจากประตูขึ้นไปอีกเล็กน้อย สำหรับตกแต่งต่างๆ หรือติดเครื่องปรับอากาศ จึงเป็นที่มาของตัวเลข 2.4 เมตร
แต่อย่างไรก็ดีความสูงก็ขึ้นอยู่กับความพอใจบางคนอาจจะติดฝ้าเพดานดันสูงขึ้นไปถึง 2.5 ถึง 2.8 เมตร และแน่นอนว่าการออกแบบให้มีฝ้าเพดานสูงๆ ก็มีข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดีและข้อจำกัดของการติดฝ้าเพดานสูง
สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าอยากได้ห้องที่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง จึงอยากจะติดฝ้าเพดานสูงอาจจะเป็น 2.6, 2.8 หรืออาจจะถึง 3 เมตร เลยก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าข้อดีก็คือฟ้าที่สูงจะให้ความรู้สึกที่โปร่งโล่ง ดูสวยงาม แต่ก็มีขอจำกัดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ
1. ลักษณะของโครงสร้าง
เนื่องจากการติดฝ้าเพดานสูงๆ นั่นหมายถึงการดันตัวโครงสร้างโดยรวมให้สูงขึ้นตามไปด้วย ชั้น 2 ก็จะสูงขึ้น หากต้องคำนึงถึงการใช้ชีวิตระยะยาวไปด้วย
2. ลักษณะช่องหน้าต่างและประตูควรสูงตามไปด้วย
การทำฝ้าสูงๆ สิ่งที่ตามมาคือความสูงของประตูและหน้าต่างที่ควรจะสูงตามไปด้วย เพราะถ้าฝ้าเพดานสูงแต่ใช้หน้าต่างขนาดปกติทั่วไป จะทำให้บ้านดูไม่สวยงามแล้วไม่สมส่วน
3. ฟ้าสูงการดูแลรักษาก็จะยากขึ้นตามไปด้วย
ลองนึกถึงในวันที่ฝนตกหนักเกิดไฟกระชาก แล้วหลอดไฟขาด บันไดมาตรฐานทั่วไปที่มีตามบ้านอาจจะไต่ขึ้นไปเปลี่ยนหลอดไฟไม่ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ต้องลำบากในการเรียกช่าง หรือการทำความสะอาดก็อาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนฟ้าที่มีความสูงมาตรฐานทั่วไป
4. ห้องที่ไม่ควรทำฝ้าสูงก็คือห้องนอน
เนื่องจากห้องนอนเป็นห้องที่เราจะใช้ในการพักผ่อน การทำฝ้าสูงบางครั้งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ที่อาจทำให้ผู้นอนรู้สึกเคว้ง ไม่ปลอดภัยแล้วทำให้นอนไม่หลับ หรือบางคนอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำอยู่ในสระลึกๆ เลยก็มี ดังนั้นข้อนี้สำคัญมากในการเลือกทำฝ้าเพดาน
5. งบประมาณ
ข้อจำกัดสุดท้ายในการเลือกทําฝ้าเพดานนั่นคือเรื่องงบประมาณ ตั้งแต่ข้อ 1 – ข้อ 3 จะสังเกตเห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการสร้างบ้านค่อนข้างมาก ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดส่งผลต่องบประมาณโดยรวมในการทำบ้านแน่นอน เรื่องงบประมาณจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการเลือก ความสูงของฝ้าเพดาน
อย่างไรก็ดีการออกแบบความสูงฝ้าเพดานก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้น ทั้งนี้คุณควรเลือกออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แล้วถ้าบ้านที่มีฝ้าเพดานต่ำล่ะต้องแก้ยังไง?
นอกจากเรื่องของความสูงของฝ้าแล้วเป็นปัญหาคือ ฝ้าเพดานที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากการที่ซื้อบ้านมาแล้วตัวบ้านมีโครงสร้างที่เตี้ยหรือมีการต่อเติมพื้นบ้านให้ยกสูงขึ้นจึงทำให้ฝ้าเพดานกับพื้นบ้านไกลกันมากอาจจะต่ำกว่า 2.4 เมตร จึงทำให้รู้สึกอึดอัดในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ดังนี้
1. เอาฝ้าออก
น่าจะง่ายที่สุดคือการเอาฝ้าออก แล้วทำการตกแต่งเพดานใหม่ในแบบที่ต้องการ ซึ่งก็จะเป็นการทำฝ้าเปลือยสไตล์ลอฟท์
2. ใช้การติดตั้งฝ้าหลุม
ส่วนใหญ่ฝ้าที่ถูกกดต่ำจะถูกกดต่ำมาเพราะคานไม่ใช่ตัวเพดาน การทำฝ้าหลุมคือการติดฝ้าเพดานดันขึ้นไปบนตัวเพดานจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ทั่วไปตามโรงแรม ห้องจัดเลี้ยงต่างๆ ซึ่งก็ทำให้บ้านดูสวยงามได้อีกแบบนึง
3. ทำหน้าต่างแบบชนฝ้า
บ้านของคุณมีฝ้าเพดานสูงแค่ 2.20 เมตร แทนที่จะทำหน้าต่างขนาดมาตรฐานทั่วไปก็เปลี่ยนเป็นใช้หน้าต่างที่มีความสูง 2.20 ให้เป็นความสูงชนฝ้าไปเลย พูดง่ายๆคือสูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ จะทำให้รู้สึกโปร่งและโล่งมากขึ้น
4. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดที่ต่ำลง
การเลือกเตียงนอนหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดต่ำลง มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ฝ้าเพดานดูสูงขึ้น เพราะมนุษย์ จะเปรียบเทียบความสูงอยู่ตลอดเวลา ที่เฟอร์นิเจอร์ต่ำลงก็ทำให้มุมมองของมนุษย์รู้สึกว่าบ้านมีความสูงมากขึ้นได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการเลือกความสูงของฝ้าเพดานและการปรับปรุงเมื่อฝ้าเพดานมีขนาดที่ต่ำเกินไป
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านที่ต้องการจะทำบ้าน กำลังทำบ้านอยู่ หรือต้องการจะปรับปรุงบ้านให้มีความสูงในแบบที่ต้องการ