เหล็กเส้น หรือ เหล็กเสริม คือ วัสดุสำหรับใช้งานคอนกรีตเสริมเหล็กและงานก่ออิฐทั่วไป โดยใช้ในการเพิ่มความสามารถในการรับแรงกับโครงสร้าง
โดยทั่วไปจะแบ่งเหล็กเส้นเป็น 2 ประเภท คือ
1.เหล็กกลมผิวเรียบ SR24 มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 2400 ksc มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดต่าง ๆ เช่น RB6 RB9 RB12 RB15 เนื่องจากผิวเหล็กที่มีลักษณะกลมเรียบ จึงทำให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างผิวเหล็กกับผิวคอนกรีตไม่ดีจึงต้องมีการงอขอเพื่อให้สามารถถ่ายเทแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.เหล็กข้ออ้อย SD30 SD40 SD50 มีกำลังรับแรงดึงที่จุดครากไม่น้อยกว่า 3000 4000 5000 ksc ตามลำดับ โดยปกติจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง เช่น DB10 DB12 DB16 ผิวของเหล็กเส้นจะมีขนาดเป็นปล้อง เพื่อเพิ่มแรงยึดเหนี่ยวให้เหล็กกับคอนกรีตมากขึ้น
การเลือกใช้ชนิดของเหล็กเส้นข้ออ้อย SD30 , SD40 และ SD50 ขึ้นอยู่กับชนิดของโครงสร้างเป็นสำคัญ ลักษณะของเหล็กเส้นข้ออ้อยที่ดี ต้องมีระยะบั้งที่เท่ากันและสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น ไม่มีสนิมรอยตำหนิ ไม่มีรอยปริหรือแตกร้าว ความยาวโดยปกติที่ขายกันตามท้องตลาด คือ 10 เมตร หรืออาจสั่งพิเศษ เช่น 12 เมตร หรือมากกว่านั้นก็ต้องสั่งทำพิเศษ
ประโยชน์ของเหล็กข้ออ้อย
ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างเสริมเหล็กคอนกรีต ในการก่อสร้างแต่ละครั้ง ต้องมีการใช้งานควบคู่กับเหล็กเส้นกลมด้วย โดยทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิศวกรประจำโครงการด้วย แต่โดยส่วนมากจะใช้เหล็กข้ออ้อยเป็นหลัก เพราะรับแรงได้ดีกว่าเหล็กเส้นกลม
เหล็กข้ออ้อย เป็นเหล็กที่มีแรงยึดเกาะที่ผิวสูง เหมาะสำหรับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ต้องการความแข็งแรงสูง เช่น เขื่อน , สะพาน , หรืองานก่อสร้างใด ๆ ที่ต้องรองรับแรงอัดมาก ๆ และตึกที่มีความสูงมาก ๆ
การเลือกซื้อเหล็กข้ออ้อยที่ดีดูได้จากอะไรบ้าง
- เครื่องหมาย มอก.
- ขนาด
- ความยาว
- บริษัท ผู้ผลิต ประเภทสินค้า
- ชั้นคุณภาพ
- วันเวลาที่ผลิต
ขั้นตอนการผลิตเหล็กข้ออ้อย
การผลิตเหล็กข้ออ้อยในปัจจุบันนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบังคับ มอก.24-2548 ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพการผลิตมาจาก มอก.24-2536 ประการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ อนุญาตให้มีการผลิตโดยผ่านกรรมวิธีทางความร้อน โดยผู้ผลิตจะต้องทำสัญลักษณ์ “T” ประทับเป็นตัวนูนบนเนื้อเหล็ก เป็นการถาวรต่อจากชั้นคุณภาพเหล็ก
ประเภทของเหล็กแบ่งตามชั้นคุณภาพของเหล็ก ดังนี้
SD30 คือ เหล็กที่ต้องมีกำลังจุดคลากไม่ต่ำกว่า 3,000 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร
SD40 คือ เหล็กที่ต้องมีกำลังจุดคลากไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร
SD50 คือ เหล็กที่ต้องมีกำลังจุดคลากไม่ต่ำกว่า 5,000 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร